top of page

โรคภูมิแพ้ (Allergy) คืออะไร



โรคภูมิแพ้ คือ

โรคภูมิแพ้ เป็นโรคทางภูมิคุ้มกันชนิดหนึ่งที่เกิดจากร่างกายได้รับสารที่แพ้เข้าไป และเกิดปฏิกิริยาของสารแพ้กับภูมิคุ้มกัน อาจเกิดขึ้นกับอวัยวะหนึ่งหรือหลายอวัยวะร่วมกันได้ อาการของผู้ป่วยมีได้ทั้งทาง ตา หู คอ จมูก ทางเดินหายใจส่วนล่าง ทางเดินอาหาร หรือทางผิวหนัง สารแพ้มีอยู่มากมายหลายชนิด คนที่เป็นโรคภูมิแพ้อาจแพ้สารก่อภูมิแพ้ที่ไม่เหมือนกัน อีกทั้งสารก่อภูมิแพ้มีความแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ด้วย

โรคที่ร่างกายเกิดปฏิกิริยาที่ผิดปกติต่อสารก่อภูมิแพ้ ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังที่เยื่อบุของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย เช่น ผิวแห้ง เยื่อบุโพรงจมูก เยื่อบุตาขาว โรคหืด หรือ โรคแพ้อาหารทะเล เป็นต้น โรคแพ้อากาศ เป็นโรคภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยที่สุด ในเด็กไทยพบประมาณร้อยละ 50 ในขณะที่โรคหืดและโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง พบได้โรคละประมาณร้อยละ 15


สารก่อภูมิแพ้มี 2 ประเภท ได้แก่

  1. สารก่อภูมิแพ้ ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ ขนสุนัข ขนแมว เกสรหญ้า หรือเชื้อรา เป็นต้น

  2. สารก่อภูมิแพ้ ประเภทอาหาร เช่น นมวัว นมถั่วเหลือง ไข่ อาหารทะเล หรือแป้งสาลี เป็นต้น

ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ จะมีอาการตามอวัยวะที่เกิดการอักเสบจาการกระตุ้นโดยสารก่อภูมิแพ้ เช่น

  • ผิวหนัง จะทำให้เกิด โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ผู้ป่วยจะมีอาการผื่นคันเรื้อรัง บริเวณใบหน้า ข้อพับแขนขา หรือลำตัว เป็นต้น

  • เยื่อบุจมูก จะทำให้เกิด โรคเยื่อบุจมูกอักเสบภูมิแพ้หรือโรคแพ้อากาศ ผู้ป่วยจะมีอาการน้ำมูกเรื้อรัง ร่วมกับอาการจาม คันหรือคัดจมูก

  • เยื่อบุตาขาว จะทำให้เกิด โรคเยื่อบุตาขาวอักเสบภูมิแพ้ ผู้ป่วยจะมีอาการคัน หรือเคืองตาเรื้อรัง แสบตา หรือน้ำตาไหลบ่อยๆ

  • เยื่อบุทางเดินหายใจ จะทำให้เกิด โรคหืด ผู้ป่วยจะมีอาการไอ หอบหายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก

  • เยื่อบุทางเดินอาหาร จะทำให้เกิด โรคแพ้อาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการอุจจาระร่วงเรื้อรัง อาเจียน น้ำหนักตัวลด ร่วมกับอาการผื่นเรื้อรังและภาวะซีด

อาการของโรคภูมิแพ้

สภาพร่างกายที่แตกต่างกัน ทำให้แต่ละคนมีโอกาสเกิดอาการแพ้ต่อสิ่งต่างๆ แตกต่างกันไปด้วย โดยอาการที่เกิดจากภูมิแพ้อาหาร แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ

  • IgE Mediated Reaction เกิดอาการแพ้เฉียบพลันทันทีที่ได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย

  • Non IgE Mediated Reaction ค่อยๆ เกิดอาการภายหลังได้รับสารก่อภูมิแพ้ประมาณ 4 ชั่วโมง หรือนานกว่านั้น

แหล่งที่มา [1] [2] [3]

Comments


bottom of page