top of page

โรคติดเชื้อในกระแสเลือด



“โรคติดเชื้อในกระแสเลือด” หลายคนคงเคยได้ยิน แต่ทราบหรือไม่ว่าการติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นอย่างไร ติดเชื้อได้อย่างไร มีวิธีแก้ไขและป้องกันอย่างไร

การติดเชื้อในกระแสเลือดคืออะไร


คือการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด เกิดการอักเสบทั่วร่างกาย ทำให้ลิ่มเลือดอุดตันไม่สามารถลำเลียงออกซิเจนไปยังอวัยวะต่างๆ เมื่อไม่ได้รับออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงอย่างเพียงพอ การทำงานของอวัยวะจึงล้มเหลว


ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ที่มีความเสี่ยง ได้แก่

  1. ผู้ป่วยเด็ก เพราะระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่

  2. ผู้ป่วยสูงอายุ เพราะการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันเริ่มเสื่อม

  3. ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำ หรือ ผู้ป่วยที่มีโรคร่วมหลายอย่าง เช่น เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง


เชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางใดบ้าง

เชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ได้แก่ ทางผิวหนัง ทางเดินหายใจ ทางเดินปัสสาวะ ทางเดินอาหาร หรือทางบาดแผล เป็นต้น โดยเฉพาะในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอเชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย


มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด

ปัจจัยที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดนั้น มี 4 ปัจจัย ดังนี้

  1. ความเจ็บป่วย เมื่อร่างกายอ่อนแอและภูมิต้านทานต่ำ

  2. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคตับแข็ง เนื่องจากตับเป็นตัวกรองเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย เมื่อตับไม่ทำงานเชื้อโรคจึงเข้าสู่กระแสเลือดได้ง่าย

  3. ผู้เป็นโรคเบาหวาน สภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ทำระบบภูมิคุ้มกันที่ต่อสู้กับเชื้อโรคเสียไป

  4. สาเหตุอื่น ๆ เช่น การรักษาผู้ป่วยด้วยการสอดใส่อุปกรณ์เข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้อย่างง่าย


ลักษณะอาการของการติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นอย่างไร

อาการของการติดเชื้อในกระแสเลือด แบ่งเป็น 3 ลักษณะคือ

  • อาการเฉพาะที่หรือเฉพาะอวัยวะที่ติดเชื้อ เช่น ติดเชื้อที่ปอดหรือเยื่อหุ้มปอด ติดเชื้อที่กรวยไต เป็นต้น

  • อาการแสดงทางผิวหนัง เกิดจากการที่เชื้อโรคหรือพิษของเชื้อโรคที่อยู่ในกระแสเลือดกระจายมาสู่บริเวณผิวหนัง

  • อาการที่เกิดจากร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการติดเชื้อ เช่น มีไข้ขึ้นสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส หนาวสั่น มีชีพจรเต้นเร็วหายใจเร็ว เป็นต้น

ความรุนแรงของการติดเชื้อในกระแสเลือดแบ่งได้เป็น 3 ระดับ คือ

  1. การติดเชื้อในกระแสเลือดแบบทั่วไป

  2. การติดเชื้อในกระแสเลือดแบบรุนแรง ส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ทำงานผิดปกติ

  3. ระดับการติดเชื้อในกระแสเลือดที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการช็อก เกิดขึ้นได้ในรายที่มีภูมิต้านทานต่ำ


การรักษาอาการติดเชื้อในกระแสเลือด

แพทย์จะวินิจฉัยจากลักษณะอาการของผู้ป่วยเป็นลำดับแรก จากนั้นจะทำการเจาะเลือดและตรวจสิ่งที่คัดหลั่งจากอวัยวะที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อด้วยการเพาะหาเชื้อ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน แต่เนื่องด้วยการติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นภาวะฉุกเฉิน แพทย์จึงต้องอาศัยการวินิจฉัยเบื้องต้นและเลือกให้ยาต้านจุลชีพครอบคลุมเชื้อไว้ก่อน ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะที่ตรงกับเชื้อในช่วง 1-2 ชั่วโมงแรก ผู้ป่วยจะมีโอกาสรอดชีวิตสูงมากขึ้นในทางตรงกันข้าม หากได้รับยาที่ไม่ตรงกับเชื้อหรือได้รับยาช้าเกินไป ก็จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้นเช่นกัน


เมื่อได้รับยาต้านจุลชีพแล้ว แพทย์จะทำการรักษาแบบประคับประคองไปพร้อมๆกัน เช่น ถ้ามีภาวะไตวายก็ทำการฟอกไต ถ้าผู้ป่วยหายใจเองไม่ได้ก็จะมีการให้ออกซิเจนหรือการใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือถ้าผู้ป่วยมีภาวะซีดก็จะมีการให้เลือด โดยพิจารณาตามลักษณะอาการของผู้ป่วย


วิธีป้องกันตัวเองจากภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ควรดูแลตัวเองอย่างไรดี

  • ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ในชีวิตประจำวันเราจะได้รับเชื้อโรคและแบคทีเรียเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้นเราจึงควรเสริมภูมิคุ้มกัน และเพิ่มขีดความสามารถให้กับระบบภูมิต้านทานในร่างกายด้วยการดูแลตัวเองด้วยการ

  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หมั่นออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ

  • หลีกเลี่ยงการไปยังสถานที่ที่มีเชื้อโรคสถานที่แออัด มีการระบายอากาศไม่ดี หมั่นสังเกตสุขภาพร่างกายของตัวเองอยู่เสมอ เมื่อเกิดความผิดปกติควรรีบพบแพทย์ทันที

ห้องปรับอากาศที่ไม่มีการระบายอากาศ หรือมีการระบายอากาศไม่ดี เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อโรคต่างๆ ทั้งแบคทีเรียและเชื้อรา ร่างกายได้รับเชื้อโรคตลอดเวลาที่อยู่ในห้อง ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดเชื้อในกระแสเลือด การระบายอากาศอย่างถูกต้องนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคแล้ว ยังช่วยให้ร่างกายได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอด้วย โปรดระลึกเสมอว่า “เครื่องปรับอากาศและเครื่องฟอกอากาศแบบตั้งพื้น ไม่มีอุปกรณ์ใดๆ ในการสร้างออกซิเจน” ทางเดียวที่ร่างกายของเราจะได้รับออกซิเจน คือ การระบายอากาศ


ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นโรคที่มีอัตราการตายสูง และรวดเร็วมาก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที


แหล่งข้อมูล [1] [2] [3] [4]

Comments


bottom of page